สถานการณ์ในตอนนี้เซียนหุ้นแนะ “wait & see”

bkในยุคที่บ้านเมืองกำลังครูกรุ่นไปด้วยความแตกต่างทางความคิด ผู้ลงทุนรายใหญ่ รายย่อย และรายจิ๋ว ควรปรับตัวอย่างไร

บางท่านบอกว่า ช่วงนี้แหละรีบเทขาย บางท่านบอกว่า ช่วงนี้แหละรีบซื้อช้อนขึ้นมา ทั้งในส่วนของผู้ลงทุนในหุ้น และผู้ลงทุนผ่านกองทุนรวม

กรุงเทพธุรกิจ ได้เผยแพร่บทความหัวข้อเจ๋งๆ โดยมีเนื้อหาดังนี้ครับ

6 เดือนแรก “หยุดรอ” 6 เดือนหลัง “ออกตัว” เมื่อเหล่าผู้รู้เรื่องตลาดหุ้นส่งเสียงแนะนำ “แฟนพันธุ์แท้” หลังการเมืองร้อนแรง

ตราบใดที่การเมืองยังวุ่นวายยืดเยื้อคงต้อง “ชัตดาวน์ตลาดหุ้นครึ่งปีแรก เพื่อรอรีสตาร์ครึ่งปีหลัง” ประโยคเด็ดของ 3 กูรูแวดวงตลาดหุ้น “ตู่-วรวรรณ ธาราภูมิ” “เปี๊ยก-มนตรี ศรไพศาล” และ “ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร” เขาพร้อมใจกันประสานเสียงกลางวงเสวนา “ลงทุนอย่างไรหากวิกฤติไทยลากยาว” ที่มีเหล่านักลงทุนจับจองที่นั่งมากกว่าครึ่งของห้องประชุมสังเวียน ชั้น 3 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท.

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนหุ้นคุณค่าแนว VI เจ้าของพอร์ตลงทุนหลักพันล้านบาท บอกว่า “ผมลดพอร์ตการลงทุนมาก่อนจะเกิดเหตุการณ์ทางการเมือง ตอนนั้นมองว่า ดัชนีสูงเกินไป ราคาหุ้นหลายตัวปรับขึ้นมากว่า 3-4 เท่าตัว จริงๆ อยากจะขายหุ้นออกไปมากกว่านั้น แต่ว่าผมเป็นคนช้า มัวแต่นั่งคิดๆ แล้วก็คิด แต่ไม่ได้ทำสักที”

เหตุผลที่ขายหุ้นออกไปไม่ได้เกี่ยวกับการเมือง แต่ขายหุ้นเพราะมองว่า ราคาแพงเกินไปแล้ว โอกาสชะลอตัวมีสูง แถมอัตราการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนไม่ได้สูงมาก ฉะนั้นควรรอก่อนเพื่อให้กำไรบริษัทจดทะเบียนเพิ่มขึ้น ถ้าดูตาม “สถิติกำไร” ของบริษัทจดทะเบียน ในปี 2551 มีกำไร 300,000ล้านบาท โดยกำไรเติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ

ผ่านมาถึงปี 2556 กำไรปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 800,000 ล้านบาท แต่ราคาหุ้นกลับขึ้นมากกว่ากำไรบริษัทจดทะเบียนขึ้นมาถึง 300 เปอร์เซ็นต์ สรุปคือ ปัจจุบันราคาหุ้นปรับขึ้นมากว่า 15 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับกำไรของบริษัทจดทะเบียน หากราคาหุ้นจะขึ้นไปยืนเท่ากับกำไรบริษัทจดทะเบียนได้ เท่ากับว่าราคาหุ้นจะต้องหยุดเคลื่อนไหวประมาณ 1 ปี เพื่อรอให้กำไรบริษัทจดทะเบียนมาเท่ากัน เขา เล่าความคิดให้ฟัง

วินาทีนี้หากนักลงทุนจะเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น เพื่อหวังผลตอบแทน 6-7 เปอร์เซ็นต์ยังพอได้อยู่ อย่างน้อยผลตอบแทนคงสูงกว่าดอกเบี้ยธนาคารที่อยู่ประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับว่า ยังคงคุ้มค่าต่อการลงทุน แต่ถ้าหวังอยากได้กำไรเยอะๆ กรุณาอย่าไปหวัง แต่หากนักลงทุนจะกระจายความเสี่ยงออกไปลงทุนในต่างประเทศ ผลตอบแทนมีโอกาสสูงกว่า

ในความเป็นจริงนักลงทุนไทยยังไปลงทุนในต่างประเทศน้อยมาก เนื่องจากคนที่มีความรู้เรื่องการลงทุนต่างประเทศยังมีน้อย และการลงทุนในต่างประเทศยังคงมีความเสี่ยงค่อนข้างสูง สำหรับนักลงทุนไทยมีทางเลือกไม่มาก “หุ้น-ทองคำ-อสังหาริมทรัพย์-เงินฝากธนาคาร” ซึ่งการลงทุนในหุ้นถือว่า เป็นทางเลือกที่ลงทุนแล้วได้รับผลตอบแทนที่ดีสุด เมื่อเทียบกับลงทุนใน ทองคำ ที่ราคา ผันผวน หรือลงทุนในอสัหาริมทรัพย์ราคาก็แพงเกินไป

“หากการเมืองจะกระทบต่อตลาดหุ้นจริงๆ คงกระทบต่อผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนก่อน แต่ในอดีตที่ผ่านมา ยังไม่เคยปรากฎว่า มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแล้วจะทำให้เศรษฐกิจถูกกระทบถึงขั้นต้องปิดประเทศ เชื่อว่าเมื่อการเมืองจบทุกอย่างจะกลับมาเหมือนเดิม ช่วงที่กำลังต่อสู้กันอยู่คงมีผลกระทบบ้างในระยะสั้นๆ ประเทศไหนอยากพัฒนาต้องเป็นประเทศเปิด และเป็นเศรษฐกิจเสรีนิยม ยิ่งเปิดเร็วประเทศยิ่งเจริญเร็ว” ดร.นิเวศน์ พูดทิ้งท้าย

ตู่-วรวรรณ ธาราภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน บัวหลวง จำกัด มีความเชื่อมั่นว่า การเมืองคงลากยาวไปถึงกลางปี 2557 หากนานกว่านี้ระบบเศรษฐกิจของเมืองไทยคงรับไม่ไหว ปัจจุบันเริ่มเห็นสัญญาณบางแล้ว ที่ผ่านมาเมืองไทยโดนทั้งผลกระทบภายในและภายนอกเล่นงาน

ในช่วงระยะสั้นนักลงทุนคงยังไม่กล้าเข้าไปลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคภายในประเทศ และการลงทุนของภาคเอกชน หลังภาครัฐมีความล่าช้าในการลงทุนโครงการต่างๆ ทำให้ไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณออกมาได้ตามกำหนด ส่วนตัวมองว่า โครงการต่างๆอาจแค่ล่าช้า โดยเฉพาะโครงการลงทุนโครงสร้างขั้นพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท แต่คงไม่ถึงขนาดต้องยกเลิกโครงการ

ภายในปี 2557 ภาคส่งออกน่าจะดีขึ้นบ้าง หลังเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว แต่ภาครัฐบาลควรจะยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินโดยเร็ว เพราะเกรงว่า หากปล่อยไว้นานจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติและจะคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกในอนาคต ถึงแม้ว่าขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบมากนักก็ตาม

เธอ เชื่อว่า ช่วงนี้ตลาดหุ้นไทยคงเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ ตราบใดที่ยังไม่มีความชัดเจน ในช่วง 6 เดือนแรก นักลงทุนคงต้อง “ตัดใจ” อย่าไปคาดหวัง “ผลตอบแทน” อยากได้มากมายคงเป็นไปไม่ได้ แต่สำหรับนักลงทุนที่ชื่นชอบ “เก็งกำไรระยะสั้น” หากมีข่าวว่า การเจรจาได้ข้อยุติได้แล้ว นักลงทุนที่รักความท้าท้ายสามารถเข้าไปลงทุนได้ เพราะดัชนีคงวิ่งตามอารมณ์ที่อั้นไม่กล้าซื้อลงทุนมานาน

สุดท้ายไม่ว่าเศรษฐกิจจะมีหน้าตาอย่างไรในตอนนี้ วันหนึ่งทุกอย่างจะกลับมายืนที่เก่า เพราะพื้นฐานของเศรษฐกิจเมืองไทยไม่มีเปลี่ยนแปลง เห็นได้จากการประชุม Economics forum ประเทศไทยยังคงติดอันดับ 1 ใน 10 ต่างชาติมองว่า เศรษฐกิจเมืองไทยยังน่าลงทุนในอันดับ 8 ของโลก ซึ่งเป็นการมองในระยะยาว 5 ปีข้างหน้า ไม่ใช่มองแค่สั้นๆ 1 ปี ฉะนั้นจึงอยากให้ปัญหาทางการเมืองจบลงโดยเร็วก่อนทุกอย่างจะสายเกินไป

สำหรับแนวโน้ม กำไรสุทธิ ของบริษัทจดทะเบียนในปี 2557 คงเติบโตได้ประมาณ 10-12 เปอร์เซ็นต์ แต่จากภาวะการเมืองในตอนนี้อาจทำให้การเติบโตต่ำกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากแรงกดดันของภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว

ฉะนั้นนักลงทุนควรลงทุนในลักษณะกระจายความเสี่ยง ออกไปในสินทรัพย์อื่นๆ โดยไม่กระจุกตัวอยู่ในรูปแบบของหุ้นอย่างเดียว นักลงทุนควรมีการบริหารจัดการพอร์ตลงทุนของตนเอง และจงหาลักษณะพอร์ตที่เหมาะสมกับตัวเองด้วย เพื่อให้นักลงทุนสามารถเดินทางถึงเป้าหมายปลายทางของการลงทุน

“วรวรรณ” เล่าถึงพอร์ตลงทุนส่วนตัวว่า ส่วนใหญ่จะแบ่งสัดส่วนการลงทุนไปในกองทุนหุ้นและทองคำมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลืออีก 20 เปอร์เซ็นต์ จะลงทุนในตราสารหนี้ ในใจลึกๆหวังอยากได้ผลตอบแทนปีละ 7-8 เปอร์เซ็นต์ แค่นี้ถือว่า พอใจแล้ว เพราะเป็นผลตอบแทนที่มากกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก ธนาคาร (หัวเราะ) และหากถึงวัยเกษียณอายุพอร์ตการลงทุนคงจะเป็นอีกลักษณะ

ฟาก “มนตรี ศรไพศาล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) หรือ KBKET มีมุมมองคล้ายๆกันว่า ปัญหาทางการเมืองคงยืดเยื้อไปถึงกลางปี 2557 โบรกเกอร์ของเราเผื่อใจไว้นานแล้ว ซึ่งจะเห็นได้จากงานวิจัยของเราที่มองสถานการณ์ทางการเมืองตั้งแต่เดือนธันวาคมที่ผ่านมาว่า ครึ่งปีแรกของปี 2557 จะมีการชัตดาวน์ ตลาดหุ้นไทย และจะกลับมารีสตาร์ทอีกครั้งในช่วงกลางปี

“ครึ่งปีแรกตลาดหุ้นคงซบเซาจากความไม่แน่นอนทางการเมือง นักลงทุนจะเห็นความลำบากที่สุดในช่วงไตรมาส 1/57 แต่ในช่วงครึ่งปีหลังคงเป็นโอกาส ในการลงทุน”

อยากบอกว่า “ศัตรูตัวร้าย” ที่มีผลต่อตลาดหุ้นไทย คือ “ความไม่แน่นอน” ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ “911- สึนามิ-ความไม่สงบ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้-การปฏิวัติปี 2549-โรคระบาดไข้หวัดนก” ทุกอย่างล้วนมีเหตุผลเดียวกันหมด คือ ความไม่แน่นอน

ปัจจุบันนักลงทุนหลายรายกำลังตกอยู่ในภาวะ “รอดูสถานการณ์ไปก่อน” เป็นเหตุให้เขาเหล่านั้นจำเป็นต้องดึงเงินลงทุนออกมาจากตลาดหุ้นไปก่อน หากเป็นเช่นนั้นตลาดหุ้นจะไปต่อได้อย่างไร แต่ถ้าความไม่แน่นอนเริ่ม “คลี่คลาย” ทุกอย่างจะเริ่มดีขึ้น เมื่อทุกอย่างชัดเจน ตลาดหุ้นไทยคงไปต่อได้เหมือนเดิม

“ปัญหาการเมืองเป็นปัจจัยหลักที่กระทบต่อตลาดหุ้น ทำให้บรรยากาศการลงทุนซบเซา เนื่องจากนักลงทุนไม่มั่นใจ และใช้กลยุทธ์การลงทุนแบบ wait and see เพื่อประเมินสถานการณ์ก่อนตัดสินใจลงทุน แต่ผมเชื่อว่า หากทุกอย่างสงบต่างชาติจะกลับมาลงทุน เนื่องจากพื้นฐานต่างๆของเมืองไทยยังดีอยู่ ยังมีความหน้าสนใจ”

“มนตรี” บอกว่า ปกติเป็นคนมองโลกในแง่ดี และมีความเชื่อเสมอว่า “เชื่อแล้วจะเห็น ไม่ใช่เห็นแล้วค่อยเชื่อ” ถ้าเราเชื่อว่า จะเป็นไปทิศทางที่ดี ผลจะออกมาดี แต่ถ้าเชื่อว่า มีปัญหามันก็จะมีปัญหา ปัจจุบันการบริโภคภายในประเทศ ถือว่า ส่งสัญญาณ “ตกต่ำ” มาตั้งแต่ไตรมาส 2/2556 เมื่อเป็นเช่นนั้นสิ่งที่ตามมา คือ หนี้ภาคครัวเรือน เมื่อมาเจอนโยบายทางการเงินของสหรัฐ ยิ่งทำให้ตลาดหุ้นตก และเมื่อผสมกับเรื่องของรากหญ้าที่เงินจำนำข้าวยังไปไม่ถึง ยิ่งทำให้กำลังซื้อหดหายหนักกว่าเดิม

ส่วนตัวมองว่า กลุ่มที่มีความน่าสนใจ คือ กลุ่มส่งออก ไม่ว่าจะเป็น อิเล็กทรอนิกส์ และ ยานยนต์ ธุรกิจเหล่านี้ยังไปได้ ในวิกฤติย่อมมีโอกาสเสมอ อย่าลืม ที่สำคัญผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนเป็นยังดีอยู่ บทวิจัยของโบรกเกอร์กิมเอ็ง ระบุว่า มีหุ้นหลากหลายกลุ่มที่น่าสนใจ เช่น กลุ่มเทคโนโลยี-สื่อสาร เพราะเมื่อเกิดการชุมนุมการเมืองคนจะใช้อินเตอร์เน็ตกันเยอะมาก นอกจากนั้นยังมี กลุ่มระบบขนส่งมวลชน คนแห่มาใช่ทั้งรถไฟฟ้าใต้ดินและ BTS

“หุ้นที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมือง คงเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคภายในประเทศ และที่เกี่ยวข้องกับโครงการของภาครัฐบาล”

โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2557

ต้องของพระคุณที่มาของบทความ เพื่อให้พี่น้องทั้งหลายได้ระวัง และวางแผนในการทำให้เงินงอกเงยกันนะครับ

Comments

comments