ระวังทัศนคติเรื่องการเงินที่ส่งผ่านให้ลูก

ระวังทัศนคติที่ส่งผ่านให้ลูก

โดยคุณวรวรรณ ธาราภูมิ CEO กองทุนบัวหลวง
1. เราเคยทิ้งใบเรียกเก็บเงิน หรือ Statement ธนาคาร ทั้งที่ยังไม่ได้เปิดอ่านไหม
2. ใบเรียกเก็บเงิน หรือ Statement มักเป็นซองสุดท้ายที่เปิดอ่านหรือเปล่า
3. เราจัดเก็บ ใบเรียกเก็บเงิน หรือ Statement อย่างเป็นระเบียบไหม
4. เรามีเวลาที่กันเอาไว้สำหรับทำงบประมาณและวางแผนการเงินของครอบครัวหรือเปล่า
5. เรามีการลงทุนไหม หากมี เรามักจะบ่นเรื่องผลการลงทุนให้ลูกๆ ได้ยินไหม
6. เรามีกำหนดการแน่นอนสำหรับติดตามและปรับปรุงการลงทุนไหม

ทั้ง 6 ข้อนั้น ข้อแรกสำคัญที่สุด เพราะว่าเรากำลังส่งผ่านทัศนคติในเชิงลบเรื่องการจัดการเงินๆ ทองๆ ให้ลูกโดยไม่รู้ตัว ลูกจะเอาเป็นแบบอย่าง จะไม่มีวินัยทางการเงิน ไม่ใส่ใจการใช้จ่าย และไม่สนใจการติดค้างชำระหนี้ เราต้องสร้างทัศนคติที่ดีให้ลูกรู้จักจัดระเบียบทางการเงินเสียแต่เนิ่นๆ ไม่ให้ไปกลัวหรือเกลียด และให้มีระเบียบในชีวิต
หากหัดให้ลูกมีส่วนช่วยคิดตัดสินใจในเรื่องการเงินของครอบครัวจะเป็นสิ่งที่ดีมาก เช่น ช่วยกันตัดสินใจว่าจะซื้อ iphone รุ่นใหม่ดีหรือไม่ และด้วยงบประมาณแค่ไหน และควรซื้อเมื่อไหร่
หากเราไม่สร้างทัศนคติเชิงบวกในการจัดการเรื่องเงินให้ลูก ต่อไปลูกก็จะเป็นคนที่ละเลยการจ่ายหนี้ ละเลยการจัดการการเงินอย่างมีแบบแผนล่วงหน้า เสียการควบคุมตนเอง หนี้สินจะควบคุมเขา แทนที่เขาจะควบคุมเงิน
.
จะช่วยเริ่มต้นให้ลูกบริหารเงินได้อย่างไร

สร้างความสนใจให้ลูกในการบริหารเงินโดยเริ่มด้วยการให้งบประมาณลูกใช้อย่างมีอิสระ กติกาคือให้ลูกใช้จ่ายส่วนหนึ่ง และออมไว้ส่วนหนึ่ง ในส่วนที่ลูกใช้จ่ายนั้นเราต้องให้อิสระแก่เขา การให้เงินพร้อมอำนาจในการตัดสินใจแก่ลูกจะทำให้เขาสนใจ และมีความรับผิดชอบ

ส่วนที่เป็นเงินออมของลูกนั้น ให้เริ่มจากพาเขาไปธนาคาร เปิดบัญชีให้เขา ให้เขาได้จับต้อง ได้เห็น ได้เข้าใจบัญชีออมทรัพย์ เข้าใจเรื่องเงินต้นและดอกเบี้ย และการบันทึกรายการต่างๆ ในสมุดคู่ฝาก และไม่ควรจบเพียงเปิดบัญชีครั้งแรกเท่านั้น ทุกๆ ครั้งที่ได้รับหนังสือจากธนาคารแจ้ง Statement ในชื่อของลูกส่งมาที่บ้าน ให้ลูกเปิดซองเอง แล้วสอนให้เข้าใจว่าแต่ละตัวหมายถึงอะไร ให้รู้ว่าทำไมจำนวนเงินเพิ่มขึ้น เพิ่มจากการออมหรือเงินต้น และเพิ่มจากดอกเบี้ยซึ่งคำนวณมาได้อย่างไร และจัดที่ทางให้ลูกมีที่เก็บสมุดฝากเงินของเขาเองเป็นส่วนตัวด้วย

สิ่งเหล่านี้จะสอนให้ลูกมีความรับผิดชอบที่จะจัดเก็บเอกสารทางการเงินอย่างเป็นที่ทาง คอยติดตามสถานะทางบัญชีได้ตลอดเวลาโดยมีความเข้าใจถ่องแท้ พอถึงสิ้นเดือนเราก็จ่ายเงินเดือนให้ลูก พาเขาไปธนาคารอีก โดยให้เขาแบ่งส่วนเงินออกเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัว และเงินออม ตามที่ตกลงกัน ทำแบบนี้เป็นประจำ โดยเป้าหมายไม่ใช่เพื่อให้เขารู้จักการลงทุนหรือเป็นมหาเศรษฐี แต่เป็นการฝึกฝนให้ลูกรู้จักออมไปด้วย ไม่ใช่มีเงินก็จ่ายอย่างเดียว ซึ่งเป็นขั้นแรกที่จะเป็นรากฐานให้มีนิสัยของการออมไปชั่วชีวิต

ขอบพระคุณพี่ตู่ วรวรรณ ครับ

Comments

comments