จะเล่นหุ้นเอง หรือฝากผู้จัดการกองทุนจัดการ แบบไหนดีกว่ากัน

580528คุณวรวรรณ ธาราภูมิ ได้โพสต์บทความเกี่ยวกับคำถามที่ว่า จะเล่นหุ้นเอง หรือจะซื้อกองทุนดี ซึ่งก็เป็นคำถามในใจของใครหลายๆคน ซึ่งคุณวิน พรหมแพทย์ ได้เขียนบทความที่ตอบโจทย์เรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี
“นักลงทุนที่เก่ง” vs “ผู้จัดการกองทุนที่มี License”
——————————————————-
โดย วิน พรหมแพทย์ SSO 2100515

การบริหารกองทุนเป็น “วิชาชีพ” ที่จำเป็นต้องได้รับใบอนุญาต ไม่ต่างจากวิชาชีพอื่นๆ ได้แก่ แพทย์ พยาบาล ผู้พิพากษา อัยการ ผู้สอบบัญชี ฯลฯ ผมยกตัวอย่างเสมอว่า หากมีใครสักคนลุกขึ้นมารักษาคนไข้โดยไม่มีใบประกอบโรคศิลป์ ก็นับว่าเป็น “หมอเถื่อน” หากมีใครสักคนลุกขึ้นมารับบริหารกองทุนให้ลูกค้าโดยไม่มีใบอนุญาต ก็ผิดกฎหมายเช่นกันครับ

แต่เรื่องใบอนุญาต หรือ License เป็นเรื่องของ “มาตรฐานวิชาชีพ” แปลว่า คนจะทำอาชีพนั้นๆ ได้ ต้องมีความรู้และความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง และต้องมีจรรยาบรรณด้วย ผู้จัดการกองทุนที่คดโกงลูกค้าก็มีสิทธิถูกพักหรือเพิกถอนใบอนุญาตได้ครับ

“ความเก่ง” กับ “มาตรฐานวิชาชีพ” จึงอาจจะเป็นคนละเรื่องกันครับ ถ้าถามว่า “เป็นไปได้ไหมที่ ผจก.กองทุน 2 คน มี license ทั้งคู่ จะเก่งไม่เท่ากัน” ก็ต้องบอกว่า เป็นไปได้ครับ เพราะความเก่งเป็นเรื่องที่ต้องต่อยอดกันด้วยความช่างสังเกต หมั่นฝึกฝน และค้นคว้าเพื่อเพิ่มพูนความรู้อยู่เสมอ

ถ้าถามว่า “เป็นไปได้ไหมที่นักลงทุนหลายคนเก่งกว่า ผจก. กองทุน ทั้งๆที่ไม่มี license” ก็ต้องบอกว่า เป็นไปได้ครับ ทั้ง Warren Buffett และ ดร. นิเวศน์ ไม่เคยสอบ CFA และไม่มี license แต่ทั้งสองท่านก็เก่งมาก … ขอเล่าเรื่องเดิมซ้ำอีกครั้งว่า Benjamin Graham (ซึ่งเป็นอาจารย์ของ Buffett) เป็นคนผลักดันให้การวิเคราะห์หลักทรัพย์และบริหารกองทุนเป็น “วิชาชีพ” ครับ ท่านผลักดันให้เกิดการสอบ CFA และเคียวเข็ญให้เพื่อนร่วมวงการไปขึ้นทะเบียนเพื่อสร้าง “มาตรฐานวิชาชีพ”

เรื่องหนึ่งที่ต้องเตือนใจกันเสมอ คือความเก่งของ Buffett และ ดร.นิเวศน์ ไม่ได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน แต่ผ่านกาลเวลาพิสูจน์หลายสิบปี … 99% ของความมั่งคั่งของ Buffett เกิดขึ้นหลังจากคุณปู่อายุ 50 ปี ครับ

อีกเรื่องหนึ่งที่น่าคิด คือ ผู้จัดการกองทุน กับ นักลงทุนอิสระ ทำงานภายใต้สภาพแวดล้อมที่ต่างกันมากครับ

ผจก. กองทุน ต้องบริหารกองทุนให้ได้ผลตอบแทนอย่างที่ลูกค้าคาดหวัง ต้องชนะ benchmark ต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์เข้มงวดของ กลต. และผลการดำเนินงาน ไม่ว่าจะดีหรือแย่ ก็ต้องถูกเปิดเผยต่อสาธารณชน

- ตัวเลข NAV ถูกเปิดเผยทุกวัน
- NAV ลงก็โดนด่า
- บริหารแพ้ benchmark ก็โดนด่า
- บริหารชนะ benchmark แต่แพ้กองทุนคู่แข่ง ก็โดนด่า

- บางทีเห็นกับตาว่าหุ้นถูก น่าซื้อมากๆ แต่ลูกค้าดันถอนเงินจากกองทุน ต้องจำใจขายหมู ก็มีครับ
ในขณะที่ นักลงทุนอิสระ ก็จะมีแรงกดดันอีกแบบ ตรงที่เป็น “เงินของตัวเอง” ถ้าลงทุนแล้วขาดทุนมากๆ ก็เครียด ถ้าเล่นหุ้นเป็นอาชีพหลัก ก็ต้องทำใจว่า การลงทุนในหุ้นไม่ได้สร้าง “รายได้ประจำ” แบบเงินเดือน ถ้าเดือนไหนไม่มีรายได้ แต่มี “รายจ่ายประจำ” เช่น ผ่อนบ้าน/ผ่อนรถ/ค่าเทอมลูก ฯลฯ ก็คงลำบากน่าดูครับ

ประเด็นหนึ่งที่หลายคนมองข้าม คือ “ขนาดกองทุน” ครับ … ผจก. กองทุนที่ต้องบริหารพอร์ตขนาด 1 แสนล้าน จะมีข้อจำกัดให้ลงทุนได้เฉพาะหุ้นตัวใหญ่ๆที่มีสภาพคล่องสูง ซึ่งมีประมาณ 100-150 ตัวให้เลือก ถึงแม้จะรู้ว่า มีหุ้นตัวเล็กที่ดีกว่า แต่ก็ลงทุนไม่ได้ … พอร์ตขนาดใหญ่จะถูกบังคับให้ต้อง diversify ด้วย คือต้องกระจายลงทุนให้มีหุ้นในพอร์ต 30-50 ตัว …

ในทางตรงข้าม พอร์ตส่วนตัวขนาด 10-20 ล้าน มีหุ้นทั้งใหญ่และเล็กให้เลือกมากกว่า 500 ตัว จะเล่นหุ้นเล็กแค่ไหนก็ได้ ในพอร์ตจะมีหุ้นแค่ 2-3 ตัวก็ได้ ถ้าเลือกหุ้นถูก ได้กำไร 2-300% ก็มี … ดังนั้น “ความเก่ง” ของคนที่บริหารพอร์ต 10 ล้าน กับ คนที่บริหารพอร์ตแสนล้าน อาจจะเทียบกันไม่ได้ ถ้าจะเทียบ ก็ควรเทียบพอร์ตขนาดพอๆ กันครับ

ท้ายที่สุด ผมเชื่อว่า “ความสุข” ของแต่ละคน ไม่เหมือนกันครับ เพื่อนๆ ผมหลายคนมีความสุขที่ได้บริหารพอร์ตส่วนตัวอยู่บ้าน มีอิสระเต็มที่ ไม่ต้องฝ่ารถติด ไม่ต้องเข้างานตรงเวลา ไม่ต้องมีแรงกดดันจากเจ้านาย ฯลฯ

แต่ก็มีอีกหลายคน (รวมทั้งผม) ที่อดทนฝ่ารถติดทุกวัน ทำงานภายใต้แรงกดดันและกฎเกณฑ์ที่เข้มงวด แต่เราก็มีความสุขและความภูมิใจที่ได้บริหารเงินให้คนอื่น ทำให้เจ้าของเงินมีเงินออมพอใช้หลังเกษียณครับ
ขอบพระคุณคุณวิน พรหมแพทย์ และพี่ตู่คนสวยของเรานะครับ ที่สร้างสรรค์สิ่งดีๆเป็นคำตอบของสังคม

วันนี้ คุณบริหารเงินให้งอกเงยหรือยังครับ

Comments

comments