ทิศทางหุ้นไทยและการลงทุน มิ.ย.58

580606ตอนนี้หากท่านใดที่สนใจเรื่องของการลงทุนอาจมีความตื่นเต้น เพราะทิศทางของตลาด set ยังไม่แน่ว่าออกหัวออกก้อย บางแห่งให้ความเห็นว่าขึ้นไปถึง 1700 จุด หรืออีกทางหนึงลงไป 1360 จุด บางท่านยิ่วกว่านั่น ตีกราฟหุ้นลงไป 700 จุด เล่นเอาแมงแม่า และมือใหม่ตื่นเต้นตื่นตัวตลอกเวลา

อย่างไรก็ตาม การติดตามข่าวสารอย่างมีสติ ย่อมดีกว่าไม่สนใจในอะไรเลยนะครับ วันนี้ทางพี่ตู่ วรวรรณ ธาราภูมิ ได้โพสต์บทวิเคราะห์ของทีมจัดการกองทุนบัวหลวง ว่าทิศทางหุ้นตอนนี้จะเป็นอย่างไรบ้าง เรามาติดตามอ่านกันดีกว่าครับ

Fund Comment จาก ทีมจัดการกองทุน บลจ.บัวหลวง
6 มิถุนายน 2558
หุ้นไทยยังซึม บริษัทจดทะเบียนขาดปัจจัยบวกหนุน ขณะผลตอบแทนตราสารหนี้ระยะกลาง-ยาวปรับเพิ่ม เหตุนักลงทุนต่างชาติเทขาย จับตา กนง.อาจหั่นดอกเบี้ยอีกรอบ หากเศรษฐกิจยังฟุบ .

ตลาดหุ้น

ในเดือนพฤษภาคม ตลาดหุ้นไทยเคลื่อนไหวค่อนข้างผันผวนในทางขาลง แม้ว่าจะเกิดรีบาวด์ก็ตาม แต่กลับไม่อาจยืนระยะขาขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ สะท้อนให้เห็นว่าตลาดยังขาด Sentiment ในเชิงบวก เห็นชัดจากตัวเลขเศรษฐกิจประจำเดือนเมษายน ทั้งดัชนีการบริโภคและดัชนีการลงทุนภาคเอกชน ปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้าเพียงเล็กน้อย ส่วนการส่งออกก็ยังคงหดตัว สืบเนื่องจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัว และสินค้าส่งออกไทยเริ่มสูญเสียส่วนแบ่งตลาด หากเศรษฐกิจยังซบเซาต่อเนื่องเช่นนี้ อาจจะต้องปรับลดประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2558 ลงอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไทยก็มิได้ปรับลดลงอย่างรุนแรง เนื่องจากเศรษฐกิจไทยไม่ได้อ่อนแอจนถึงขั้นหดตัว หากแต่เริ่มเข้าสู่อัตราการขยายตัวแบบ New Normal Growth ซึ่งจะชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับที่ผ่านมา นอกจากนั้น ตลาดยังคาดหวังถึงการเบิกจ่ายภาครัฐ ที่เชื่อว่าจะเร่งรัดให้เร็วขึ้นในครึ่งปีหลังของปีนี้และตลอดทั้งปีหน้า แม้ในช่วงที่ผ่านมาจะรวดเร็วขึ้นกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนแล้วก็ตาม แต่กว่าที่เม็ดเงินจะไหลเวียนจนขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งระบบอย่างเต็มพลัง ก็ต้องใช้เวลา

ด้วยเหตุนี้ เราจะยังไม่เห็นสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจนจากผลประกอบการของบริษัทในภาคธุรกิจที่อิงกับวงจรเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตอันใกล้ ส่วนปัจจัยจากต่างประเทศตั้งแต่ต้นปี 2558 โดยเฉพาะนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศนั้น ไม่ได้ช่วยสร้างบรรยากาศการลงทุนเท่าใดนัก

เมื่อตลาดขาดปัจจัยบวกเสียแล้ว ย่อมจะทำให้อ่อนไหวต่อปัจจัยลบที่อาจจะเกิดขึ้นได้ง่าย เช่น ภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่อ่อนแอลงอีก หรือระดับหนี้เสียของธนาคารพาณิชย์ที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น ดังนั้น ขณะที่ยังเฝ้ารอข้อมูลตัวชี้วัดต่างๆ ทางเศรษฐกิจ ตลาดหุ้นไทยก็น่าจะอยู่ในช่วงปรับฐานเพื่อติดตามข้อมูลทางเศรษฐกิจและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่จะเป็นปัจจัยชี้นำทิศทางตลาดต่อไป
.

 ตลาดตราสารหนี้

ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ตลาดตราสารหนี้ไทยเผชิญแรงเทขายจากนักลงทุนต่างชาติถึง 9 วันติดกัน รวมมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาท (พันธบัตรอายุน้อยกว่า 1 ปี จำนวน 6 พันล้านบาท และอายุมากกว่า 1 ปี จำนวน 2.4 หมื่นล้านบาท) ด้วยเหตุปัจจัยจากทั้งภายในและภายนอกประเทศ

ปัจจัยภายในประเทศนั้นเป็นผลต่อเนื่องจากปลายเดือนเมษายน หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 1.50% (29 เมษายน) ซึ่งเป็นอัตราที่อยู่เหนือความคาดหมายของตลาด ทำให้อัตราผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้ปรับลดลงทุกช่วงอายุตราสาร โดยเฉพาะช่วงระยะสั้นอายุไม่เกิน 1 ปี และในวันรุ่งขึ้นธนาคารแห่งประเทศไทยยังได้ประกาศมาตรการผ่อนคลายเงินทุนเคลื่อนย้าย ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าไปแตะระดับอ่อนสุดในรอบกว่า 5 ปี ที่ 33.85 บาทต่อดอลลาร์ จึงเป็นเหตุให้นักลงทุนต่างชาติเทขายพันธบัตรรัฐบาลอย่างแรงจากอัตราผลตอบแทนที่ต่ำลงประกอบกับแนวโน้มเงินบาทที่อ่อนค่าลง

ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยจากต่างประเทศที่แทรกเข้ามาในช่วงดังกล่าวด้วย ได้แก่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศหลักๆ นำโดยเยอรมนี ที่ปรับเพิ่มขึ้นจากแรงเทขายของนักลงทุน โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของเยอรมนีรุ่นอายุ 10 ปี ปรับขึ้นไปถึง 0.60% จากเดิมที่ลดลงสู่จุดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.05% ในช่วงกลางเดือนเมษายน การปรับเพิ่มดังกล่าวส่งผลกระทบไปยังหลายประเทศรวมทั้งไทยด้วย

แรงขายที่เกิดขึ้น ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะกลางถึงยาวปรับเพิ่มขึ้น จนปัจจุบันขึ้นไปใกล้เคียงตอนปลายปี 2557 ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นขิงไทยก็ยังลดลงต่อเนื่อง ด้วยตลาดบางส่วนคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอาจโดนปรับลดลงอีก

ทั้งนี้ สถานการณ์เศรษฐกิจโลกต่อจากนี้ไป ซึ่ง IMF ระบุว่า 4 ปัจจัยหลัก คือ 1) Low Inflation หรือเงินเฟ้อต่ำ 2) Low Growth หรือเศรษฐกิจโลกเติบโตต่ำ 3) High Unemployment หรืออัตราว่างงานสูง และ 4) High Debt หรือภาระหนี้สูง จะทำให้ธนาคารกลางของประเทศหลักมีแนวโน้มจะคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป เช่นที่เกิดกับธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) เป็นต้น

ผลลัพธ์จากมาตรการผ่อนคลายทางการเงินดังกล่าวมีส่วนให้ธนาคารกลางของประเทศตลาดเกิดใหม่ที่พึ่งพาภาคการส่งออกเป็นหลัก เกิดความวิตกกังวลในประเด็นค่าเงินที่แข็งขึ้น ดังนั้นในช่วงที่ผ่านมา จึงได้เห็นการผ่อนคลายนโยบายการเงินในประเทศเหล่านี้ เช่น จีน เกาหลีใต้ รวมถึงไทย

ในส่วนของนโยบายการเงินของไทย กองทุนบัวหลวงพิจารณาว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ กนง. ทั้ง 2 ครั้ง (รวม 0.50%) จนอัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันอยู่ที่ 1.50% นั้น น่าจะอยู่ในระดับที่ช่วยผ่อนคลายความตึงตัวของสภาพเศรษฐกิจในประเทศได้ นอกจากนี้ มาตรการผ่อนคลายเงินทุนเคลื่อนย้ายของ ธปท.ที่ประกาศใช้ในระยะไล่เลี่ยกันก็น่าจะเอื้ออำนวยต่อภาคการส่งออกผ่านการเคลื่อนไหวของค่าเงินได้ อย่างไรก็ตาม การส่งผ่านนโยบายการเงิน (Policy Transmission Mechanism) ไปสู่เศรษฐกิจภาคการผลิตจริงยังจำเป็นต้องใช้เวลา

เราจึงมองว่า กนง.น่าจะติดตามสัมฤทธิ์ผลในกรอบนโยบายการเงินปัจจุบันไปสักช่วงเวลาหนึ่ง หากตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างเช่นภาคการส่งออกไม่กระเตื้องขึ้นตามเป้า ค่อยไปลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.25% ให้เหลือ 1.25% ต่อปี (อ้างอิงจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอดีตที่เคยต่ำสุดที่ 1.25%)

ต้องขอบพระคุณข้อมูลดีๆจาก facebook พี่ตู่นะครับ ติดตามข้อมูลการลงทุน การออมเงินได้ที่ http://earn.kruchamp.com ได้นะครับ

การลงทุนมีความเสี่ยง แต่ที่เสี่ยงยิ่งกว่าคือไม่ลงทุนในสิ่งใดเลย แม้กระทั้งความรู้

Comments

comments