ซื้อกองทุนตอนไหนดี ก่อนหรือหลัง IPO

ควรจะซื้อกองทุนที่ IPO 10 บาท หรือรอซื้อในวันที่ราคาต่ำกว่า IPO
———————————————————————————
การซื้อกองทุนช่วง IPO ที่ราคา 10 บาทต่อหน่วยคือการเริ่มต้นลงทุนกับกองทุนนั้นๆ ตั้งแต่วันแรก และเมื่อมีการคำนวณราคา NAV แต่ละวัน ราคา NAV ก็จะเคลื่อนไหว “ขึ้น/ลง/เสมอตัว” ตามราคาปิดตอนเย็นในตลาดฯ ของหุ้นที่กองทุนลงทุน

ถ้าคาดหวังว่าจะซื้อที่ราคา 10 บาท แล้วราคาจะต้องไม่ลดลงเลย เท่ากับคิดเพ้อฝันไปว่าวันที่เริ่มต้นลงทุนคือวันที่ราคาหุ้นในพอร์ตต่ำที่สุด และจากนี้ไปมีแต่ราคาจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ … เท่ากับไปทำนายล่วงหน้าว่าหลังจากวันจดทะเบียนกองทุนแล้ว ราคาหุ้นในพอร์ตจะมีแต่เพิ่มขึ้นเท่านั้น ไม่มีวันลดต่ำลงกว่าวันจดทะเบียน

แต่ในโลกของการลงทุนไม่มีใครรู้ว่าวันที่ราคาต่ำสุดนั้นคือวันไหน

และที่สำคัญก็คือ ราคาหุ้นมันมีขึ้นๆ ลงๆ ได้เสมอ แต่ถ้าลงทุนยาวๆ ในกองทุนหุ้นที่ “ใช่” และมีความอดทนต่อ NAV ที่ผันผวนตามราคาหุ้นรายวันได้ เราก็มีโอกาสสูงที่จะได้รับผลตอบแทนเป้นกองเป็นกำในอนาคตระยะยาว
.

แล้วจะเลือกแบบไหนดี
—————————
การจะซื้อที่ IPO หรือหลัง IPO ตอนที่ราคาต่ำกว่า 10 บาท จะเลือกแบบไหนก็ได้ทั้งนั้น แต่ควรเลือกให้เหมาะกับตนเอง และยอมรับในสิ่งที่เลือก

ถ้าเป็นผู้ลงทุนตามหลักการอยู่แล้วคือลงทุนยาว หรือลงทุนแบบถัวเฉลี่ย โดยเลือกกองทุนหุ้นเพราะเชื่อมั่นว่าจะได้ผลตอบแทนดีในอนาคต ก็ลงทุนตั้งแต่ IPO ไปได้เลย ไม่ต้องไปกังวลกับราคารายวัน เพราะเป้าหมายคืออนาคต ไม่ต้องเสียเวลาคอยเฝ้าติดตามตลาด

อีกปัญหาของการเฝ้าราคารายวันคือ แล้วราคาไหนกันแน่ คือราคาที่เหมาะสมในการซื้อ

คนที่เลือกรอซื้อหลัง IPO ก็มี นั่นคือกังวลว่าพรุ่งนี้ราคาจะลงไหม จะซื้อได้เมื่อไร … สุดท้ายก็ไม่ได้ซื้อ

เรื่องนี้ก็คือย้อนกลับไปวังวนเดิม นั่นคือ การรอราคาให้ต่ำกว่า 10 บาท คือการนำเรื่อง market timing มาปนกับการลงทุนระยะยาวซึ่งที่ควรหลีกเลี่ยงเป็นอย่างยิ่งถ้าหากเราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญหรือไม่ได้เกาะ ติดกับตลาดอย่างแท้จริง และในที่สุดก็ต้องรอคอยไปเรื่อยๆ จนไม่ได้ลงทุนสักที
.

ถ้าอยากจะรอซื้อหลัง IPO จะทำได้ไหม
———————————————–
ทำไมจะไม่ได้ เพราะเงินเป็นของเรา การตัดสินใจก็เป็นของเรา แต่ควรกำหนด trigger ให้ชัดเจน จะได้ไม่พลาดการลงทุน เช่น

ทางเลือกที่ 1
—————-
ลงทุนช่วง IPO ส่วนหนึ่ง เช่นประมาณ 40% ของเงินที่ตั้งใจลงทุน อีก 60% ค่อยแบ่งเป็น 3 ก้อน แล้วทยอยลงทุนใน 3 เดือนข้างหน้า เดือนละ 20% ในราคาที่เห็นว่าเหมาะสม

แต่ถ้าผ่านไปจนสิ้นเดือนแล้ว NAV กองทุนยังไม่ต่ำกว่าราคา IPO และเรายังไม่ได้ลงทุน ก็ต้องบังคับตนเองให้ลงทุนในวันทำการสุดท้ายของเดือนเสีย ไม่ว่าราคาจะเป็นเท่าไร เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสลงทุน

ทางเลือกที่ 2
—————-
เลือกลงทุนในช่วง IPO ก่อนส่วนหนึ่ง เช่นครึ่งหนึ่งของเงินที่ตั้งใจ ส่วนอีก 50% กำหนดราคาเป้าหมายให้ชัด เช่นจะลงทุนอีก 25% หากราคา NAV ลดลงมาแตะ 9.50 บาท ในเวลารอคอยที่กำหนด

เช่นภายใน 1 เดือน ถ้าไม่ลงมาแตะ 9.50บาท ก็ต้องลงทุนในวันทำการสุดท้ายไม่ว่าราคาจะเป็นเท่าไรเพื่อไม่ให้พลาดโอกาสการลงทุน

ส่วนอีก 25% จะลงทุนเมื่อราคาลงมาแตะ 9 บาท และเช่นกันหากราคาไม่ลงมาแตะ 9 บาท ในช่วงที่กำหนด ก็ให้ซื้อทันทีทีในวันทำการสุดท้ายของช่วงที่กำหนดเช่นกัน

การกำหนดเป้าหมายลงทุนเช่นนี้ เป็นการผสมรูปแบบการลงทุนสำหรับคนที่ต้องการใช้ market timing ผสมผสานในเวลาลงทุน และต้องมีวินัยสูง ไม่เปลี่ยนแผน ไม่เลื่อนเป้าหมายโดยไม่มีเหตุผลอันควร

แต่ถ้าใครที่ไม่ได้มีเวลาติดตามราคาหน่วยลงทุน สภาวะตลาด หรือไม่มีความชำนาญ การลงทุนระยะยาว โดยลงทุนตั้งแต่ช่วง IPO ไปเลย ก็เป็นทางออกที่ดี และไม่วุ่นวาย
.

เสกสรร โตวิวัฒน์ บลจ.บัวหลวง
19 กรกฎาคม 2561

Comments

comments